จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Last updated: 30 ก.ย. 2554  |  10134 จำนวนผู้เข้าชม  | 

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย/Chulalongkorn University

อักษรย่อ : จุฬาฯ / CU

วันสถาปนา : 26 มีนาคม 2459 (ถ้านับตามสากล 2460)

ตราประจำมหาวิทยาลัย พระเกี้ยว  

          พระเกี้ยวเป็นศิราภรณ์ประดับพระเกศา หรือพระเศียรของพระราชโอรส และพระราชธิดาของพระมหากษัตริย์ คำว่า เกี้ยว ถ้าเป็นคำนามแปลว่า เครื่องประดับศีรษะหรือเครื่องสวมจุก ถ้าเป็นคำกริยาแปลว่าผูกรัดหรือพัน พระเกี้ยวเป็นสัญลักษณ์ที่ชาวจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยภูมิใจทั้งนี้สืบเนื่องจากชื่อของมหาวิทยาลัยได้รับ พระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ในสมเด็จพระปิยมหาราช ผู้พระราชทานกำเนิดมหาวิทยาลัยนี้ จุฬาลงกรณ์ แปลว่า เครื่องประดับศีรษะหรือจุลมงกุฎ จุลมงกุฎมี ความหมายสำคัญยิ่งคือเกี่ยวโยงถึงพระนามาภิไธยเดิม ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎฯ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ จึงมีความหมายว่า จุลมงกุฎ หรือพระราชโอรสของสมเด็จฯเจ้าฟ้ามงกุฎฯ ยิ่งกว่านั้น ยังมีความเกี่ยวพันถึงพระปรมาภิไธยในพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีหมายความว่า "พระจอมเกล้าน้อย" พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ กำหนดให้พระเกี้ยวเป็นพิจิตรเรขา (สัญลักษณ์) ประจำรัชกาลของพระองค์ เมื่อตั้งโรงเรียนฝึกหัดข้าราชการพลเรือนหรือโรงเรียนมหาดเล็ก จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระเกี้ยว เป็นเครื่องหมายหน้าหมวกของนักเรียน มหาดเล็ก ต่อมาเมื่อโรงเรียนมหาดเล็กกราบบังคมทูลขอพระราชทาน พระบรมราชานุญาตอัญเชิญพระเกี้ยวเป็น เครื่องหมายของโรงเรียนก็ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาต ตามที่กราบบังคมทูลขอพระราชทาน เมื่อโรงเรียนมหาดเล็กได้วิวัฒน์ขึ้นเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้บริหารก็ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต เปลี่ยนข้อความใต้พระเกี้ยวตามชื่อซึ่งได้รับพระราชทานใหม่ตลอดมา พระเกี้ยวองค์ที่ประดิษฐานอยู่ที่หอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตึกจักรพงษ์ เป็นพระเกี้ยว ซึ่งมหาวิทยาลัยได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เพื่อสร้างจำลองจาก พระเกี้ยวจริงที่ประดิษฐานอยู่ในพระคลังมหาสมบัติในพระบรมมหาราชวัง มหาวิทยาลัยสร้างเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๙ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงเจิม และทรงพระสุหร่ายที่องค์พระเกี้ยว แล้วพระราชทานแก่มหาวิทยาลัยต่อหน้าประชาคมจุฬาฯ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรประจำปีการศึกษา๒๕๓๑ (๑๓ กรกฎาคม ๒๕๓๒)


ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย"จามจุรี" เป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย ถือเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของจุฬาฯ มีความผูกพันกับชาวจุฬาฯ มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งเป็นมหาวิทยาลัย ด้วยวัฏจักรของจามจุรีมีความสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวจุฬาฯ กล่าวคือ มีสีเขียวชอุ่มให้ความสดชื่นในช่วงเวลาภาคต้นของการศึกษาเสมือนนิสิตปีที่ 1ที่ยังคงเริงร่าสนุกสนานกับการเป็นน้องใหม่ และเมื่อเวลาผ่านไปในภาคปลายของการศึกษา ทั้งใบและฝักย้ำเตือนให้นิสิตเตรียม ตัวสอบปลายปีมิฉะนั้นอาจจะต้องเรียนซ้ำชั้นหรือถูกไล่ออก

ด้วยจามจุรีเป็นไม้ที่สลัดใบและฝักในช่วงเวลาปลายปี ทำให้ถนนและคูข้างถนนในจุฬาฯสกปรกปัญหาของต้นจามจุรี คือ ปลูกขึ้นยาก ดูแลรักษายาก มีโรคพืช ทำให้กิ่งก้านหักหล่น ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๘๐ -๒๕๐๐ จำนวนต้นจามจุรีในมหาวิทยาลัยเริ่มลดน้อยลงอย่างมากมีคณะต่างๆ เกิดขึ้นเป็นเหตุให้ต้นจามจุรีถูกโค่นลงเพื่อสร้างตึกใหม่ และไม่มีนโยบายปลูกทดแทน จากการที่จามจุรีลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้นต่อชาวจุฬาฯ ถือเป็นิมิตหมายที่ดี โดยที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน
ในวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๐๕ พระบาทสมเด็จพระปร มินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ได้เสด็จพระราชดำเนิน ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พระราชทานต้นจามจุรีแก่มหาวิทยาลัย จำนวน ๕ ต้น ซึ่งพระองค์ทรงนำมาจากพระราชวังไกลกังวล หัวหิน และทรงปลูกด้วยพระองค์เอง บริเวณด้านหน้าหอประชุมจุฬาฯ ฝั่งด้านสนามฟุตบอล ทางด้านขวา จำนวน ๓ ต้น ด้านซ้ายจำนวน ๒ ต้น และยังได้พระราชทานพระราชดำรัสถึงความผูกพันระหว่างชาวจุฬาฯ กับจามจุรีว่ามีมานานตั้งแต่สร้างมหาวิทยาลัย ทรงเน้นว่าดอกสีชมพูเป็นสัญลักษณ์สูงสุดอย่างหนึ่งของจุฬาฯ พระองค์ทรงเห็นว่าจามจุรีที่นำมานั้นโตขึ้น สมควรจะเข้ามหาวิทยาลัยเสียที และสถานที่นี้เหมาะสมที่สุด "จึงขอฝากต้นไม้ไว้ห้าต้นให้เป็นเครื่องเตือนใจตลอดกาล"

ต้มจามจุรีพระราชทานทั้ง ๕ ต้นนี้ จึงยืนอยู่แข็งแรง เป็นศรีสง่าและศิริมงคลแก่ชาวจุฬาฯ มาจนถึงปัจจุบันและในอนาคตสืบไป และเนื่องในมหามงคลวโรกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลย์สิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี จุฬาฯ จึงตกแต่งลานจามจุรีพระราชทานเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเฉลิมพระเกียรติกาญจนาภิเษก และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดลานจามจุรีพระราชทานเมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๓๙ เพื่อให้ลานจามจุรีพระราชทานนี้เป็นสิ่งเตือนใจให้ชาวจุฬาฯ สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเชื่อมั่นว่าลานจามจุรีพระราชทาน จะเป็นอนุสรณ์สถานแห่งหนึ่งของมหาวิทยาลัยที่ร้อยรัดความสามัคคีของชาวจุฬาฯตลอดไป

ต่อมา พ.ศ. ๒๕๔๐ ในวาระครบรอบ ๘๐ ปี แห่งการสถาปนา ชาวจุฬาฯ ร่วมใจดำเนินตามพระราชดำรัส ด้วยโครงการ "จุฬาฯ ๘๐ ปี จามจุรี ๘๐ ต้น" กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมหนึ่งที่ชาวจุฬาฯ ทุกคนไม่ว่าจะเป็นศิษย์เก่าศิษย์ปัจจุบัน อาจารย์ บุคลากร ล้วนแล้วแต่มีส่วนร่วมในกิจกรรมนี้ทั้งสิ้น และโครงการนี้จะทยอยปลูกต้นจามจุรีต่อไปจนจุฬาฯ กลายเป็นอุทยานจามจุรีอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ชาวจุฬาฯ รุ่นต่อไปได้ร่มเงาจามจุรี มิใช่เหลือแต่เพียงความทรงจำ และจามจุรีก็จะเป็นสัญลักษณ์หนึ่งคู่จุฬาฯ ตลอดกาล
ชาวจุฬาฯ ยึดถือจามจุรีนี้เป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มักเรียกกันว่า จามจุรีสีชมพู หรือจามจุรีศรีจุฬาฯ เมื่อถึงวันงานประเพณีต้อนรับน้องใหม่ทุก ๆ ปี นิสิตรุ่นพี่จะนำใบหรือกิ่งจามจุรีเล็ก ๆ มาผูกริบบิ้นสีชมพูคล้องคอให้นิสิตใหม่ เพื่อเป็นการต้อนรับเข้าสู่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาณาจักรแห่งจามจุรีสีชมพู


สีประจำมหาวิทยาลัย “สีชมพู” เนื่องจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือกำเนิดจากพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตั้งโรงเรียนฝึกหัดข้าราชการพลเรือน หรือโรงเรียนมหาดเล็กครั้งนั้น ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้นักเรียนมหาดเล็ก แต่งเครื่องแบบมหาดเล็ก ซึ่งมีอินทรธนูเป็นสีบานเย็นอันเป็นสีของกรมมหาดเล็ก สีบานเย็น จึงเป็นสีประจำสถาบัน ต่อ มาเมื่อมีการแข่งขันฟุตบอลประเพณีครั้งแรก ระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัย วิชาธรรมศาสตร์และการเมือง คณะกรรมการสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงพิจารณาสีที่จะใช้ในการแข่ง ขัน ศาสตราจารย์ ม.ร.ว.สุมนชาติ สวัสดิกุล เมื่อครั้งยังเป็นนิสิตและนายกสโมสรนิสิตฯ ได้เสนอว่าชื่อของมหาวิทยาลัยคือ พระปรมาภิไธยเดิมของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีพระบรมราชสมภพในวันอังคารและโปรดเกล้าฯ ให้ใช้สีชมพูเป็นสีประจำพระองค์ คณะกรรมการสโมสรนิสิตฯ เห็นสมควรอัญเชิญสีประจำพระองค์เป็นสีประจำมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นเกียรติและสิริมงคล มหาวิทยาลัยจึงใช้สีชมพูเป็นสีประจำมหาวิทยาลัยตลอดมา

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้